Jakrapob-รำลึกวีรชน19พ.ค.-ราชประสงค์

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทวิตเตอร์ "อภิสิทธิ์" สมบัติส่วนตัวหรือของรัฐบาล?


by TPNews, 2011-05-06 08:01:35

บล็อก www.ipattt.com ของพัชร เกิดศิริ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดออนไลน์ บริษัทไทเกอร์ไอเดีย เรื่อง "ของรัฐบาลหรือของส่วนตัว ? จับตาดู account @PM_Abhisit" เมื่อวันที่ 3 พ.ค.54 ซึ่งระบุว่าเขียนร่วมกับวรงค์ หลูไพบูลย์ ตั้งข้อสังเกตจากกรณีทวิตเตอร์แอคเคาท์ @PM_Abhisit รีทวีตข้อความจากทวิตเตอร์แอคเคาท์ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งมีเนื้อหาประชาสัมพันธ์นโยบายพรรค รวมทั้งพาดพิงถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยในเชิงเปรียบเทียบด้วย

เนื้อหาของบล็อกย้อนรอยไปถึงช่วงที่มีการตั้งคำถามจากสาธารณะว่า แอคเคาท์ @PM_Abhisit นั้นทวีตโดยนายอภิสิทธิ์จริงหรือไม่ หลังจากที่มีการอวยพรวันเกิดไปยัง @thaksinlive (ทวิตเตอร์แอคเคาท์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) โดย ปชป.เคยชี้แจงว่าทวิตเตอร์แอคเคาท์ดังกล่าวทวีตโดยอาสาสมัครที่ไม่ได้รับเงินเดือน ก่อนจะออกมาแถลงข่าวว่าตัดสินใจใช้แอคเคาท์ดังกล่าวเป็นแอคเคาท์ทางการของนายอภิสิทธิ์ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ เมื่อลองดูในหน้าโปรไฟล์ของแอคเคาท์ @PM_Abhisit พบว่าคำอธิบายค่อนข้างกำกวม โดยระบุว่า เป็นแอคเคาท์ทางการของนายกรัฐมนตรีของไทย

บล็อกดังกล่าวตั้งคำถามถึงบทบาทในฐานะบุคคลและผู้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่

"เมื่อคุณอภิสิทธิ์สวมบทบาทเป็นประชาชนคนหนึ่ง ย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรได้ดังเช่นคนปรกติทั่วๆ ไป เช่นการสนทนาพูดคุยเล่นหัวกับผู้อื่น หรือการหาประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคพวก ดังเช่นการโฆษณาหาเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ที่คุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้านั้นย่อมไม่เป็นปัญหาอันใด แต่เพราะคุณอภิสิทธิ์ยังมีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย เมื่อคุณอภิสิทธิ์สวมบทบาทนี้ หรือใช้ทรัพยากรในฐานะนายกรัฐมนตรี (อันหมายถึงเป็นของสาธารณะ) จำเป็นต้องระมัดระวังและเคร่งครัดที่จะไม่ใช้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของคุณอภิสิทธิ์เองหรือพรรคการเมืองที่คุณอภิสิทธิ์สังกัด

"ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจก็คือ: แอคเคาท์ @PM_Abhisit นั้นเป็นแอคเคาท์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย หรือ แอคเคาท์ส่วนตัวของคุณอภิสิทธิ์เอง ซึ่งทั้งสองแบบนี้ย่อมมีความแตกต่างกันทั้งในบทบาทและการบริหารจัดการ"

นอกจากนี้ มีการยกตัวอย่างเว็บไซต์ทางการประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (http://www.pm.go.th) ซึ่งมีการเชื่อมต่อไปที่ทวิตเตอร์แอคเคาท์ ทั้งนี้ การที่เว็บลงท้ายด้วย .go.th บ่งบอกว่าเป็นเว็บไซต์ของทางราชการ ซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชนในการสร้าง การเชื่อมต่อไปที่ทวิตเตอร์แอคเคาท์ดังกล่าว ย่อมส่งผลให้เข้าใจว่าแอคเคาท์ @PM_Abhisit เป็นทวิตเตอร์แอคเคาท์ทางการประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อมีการทวีตข้อความประชาสัมพันธ์ ปชป. ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น จึงควรมีการอธิบายความคลุมเครือนี้ต่อสาธารณชน

ทั้งนี้ บล็อกดังกล่าวได้หยิบยกเว็บไซต์ของทำเนียบขาวของสหรัฐฯ มาเปรียบเทียบด้วย โดยระบุว่า การเชื่อมต่อทวิตเตอร์แอคเคาท์นั้นเชื่อมต่อไปที่ทวิตเตอร์แอคเคาท์ของทำเนียบขาว ด้านเนื้อหา เว็บไซต์ทำเนียบขาว มีข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ การบริหารจัดการ และทำเนียบประธานาธิบดีทุกคนในอดีต ขณะที่เว็บไซต์นายกรัฐมนตรี ข้อมูลเกือบทั้งหมดอิงอยู่กับตัวนายอภิสิทธิ์ โดยไม่มีเรื่องของนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในอดีต อย่างไรก็ตาม ทิ้งท้ายไว้ว่า อาจไม่มีนโยบายในการพัฒนาหรือไม่มีเวลาเพียงพอก็เป็นได้

ตอนท้าย บล็อกนี้สรุปถึงพื้นที่ออนไลน์และความชัดเจนของตำแหน่งและบทบาท โดยชี้ให้เห็นว่า ความพยายามแยกให้ชัดเจนระหว่างสมบัติสาธารณะกับสมบัติส่วนบุคคลเป็นหลักการหนึ่งที่เป็นพื้นฐานของความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ อันนำไปสู่เส้นทางของการต่อต้านคอร์รัปชัน ในพื้นที่ใหม่อย่างโลกออนไลน์ของไทยที่ยังปราศจากความชัดเจนที่ว่านี้ สาธารณชนผู้ประกาศตัวว่ารังเกียจการคอร์รัปชันและการเอารัดเอาเปรียบ จึงควรให้ความสนใจประเด็นนี้เช่นกัน

บทสรุป: พื้นที่ออนไลน์และความชัดเจนเรื่องตำแหน่งบทบาททรัพยากรในโลกออนไลน์ในฐานะสมบัติสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ และคงเช่นเดียวกับบรรดาสิ่งเกิดใหม่ทั้งหลายที่อาจจะยังไม่มีบรรทัดฐานที่ ชัดเจน ดังเช่นทรัพยากรกายภาพในแบบที่เราคุ้นเคย

หากลองสำรวจตัวอย่าง อื่นๆ ให้กว้างไปจากเดิม ในเว็บของกระทรวงการคลัง เราจะพบส่วนประชาสัมพันธ์ Social media ไปยังแอคเคาท์ @PM_abhisit , เว็บไซต์ส่วนตัวของคุณกรณ์ และพรรคประชาธิปปัตย์ด้วย

ในหน้าเว็บไซต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรายังได้พบคลิปวีดีโอ ใครคนนั้น อันเป็นมิวสิควีดีโอประชาสัมพันธ์คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะปรากฏอยู่ คลิปวีดีโอนี้ออกมาในช่วงกำลังจะเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ตัวคลิปโฆษณาคุณอภิสิทธิ์ในช่วงท้าย ให้ข้อมูลแว่บหนึ่งว่าเป็นงานของสำนักนายกรัฐมนตรี อันน่าจะมาจากงบประมาณสาธารณะ ภาษีประชาชน ซึ่งควรจะใช้งานได้ในระยะเวลาพอควร โดยไม่ผูกติดอยู่เพียงตัวคุณอภิสิทธิ์เท่านั้น

แต่คลิปวิดีโอนี้ออกมาในช่วงคุณอภิสิทธิ์กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง นั่นหมายถึงอายุใช้งานอาจจะสั้นนิดเดียวก็เป็นได้

ความพยายามแยกให้ชัดเจนระหว่างสมบัติสาธารณะกับสมบัติส่วนบุคคลเป็นหลักการหนึ่ง ที่เป็นพื้นฐานของความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ อันนำไปสู่เส้นทางของการต่อต้านคอร์รัปชัน ในยุคสมัยที่คนไทยกำลังตื่นตัวและให้ความสนใจกับประเด็นคอร์รัปชัน พื้นที่ใหม่อย่างโลกออนไลน์ของไทยยังปราศจากความชัดเจนที่ว่านี้ สมควรที่สาธารณะชนผู้ประกาศตัวว่ารังเกียจการคอร์รัปชันและการเอารัด เอาเปรียบ ควรให้ความสนใจประเด็นนี้ในระดับที่เหมาะสมของแต่ละท่านต่อไป โดยไม่ตั้งแง่ว่าผู้ใดกำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

----------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : จาก http://www.ipattt.com/2011/personal-government/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น