Jakrapob-รำลึกวีรชน19พ.ค.-ราชประสงค์

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อสส.ตีกลับสำนวนยุบปชป. หลักฐานไม่พอยื่นศาลรธน.


TPNews, 2010-06-09 00:31:01

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ว่า ขณะนี้สำนักงาน กกต.ได้รับหนังสือจากอัยการสูงสุด (อสส.) แจ้งว่ากรณี กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ถูกกล่าวหารับเงินบริจาค 258 ล้านบาท จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่อาจเป็นนิติกรรมอำพราง ซึ่งอาจกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 94 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า หลักฐานที่ กกต.ส่งมายัง อสส.นั้นไม่เพียงพอต่อการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค ตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.พรรคการเมืองได้ จึงขอให้กกต.ตั้งคณะทำงานร่วม โดยมีผู้แทนของ อสส.และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งที่ประชุมกกต.จะต้องมีการพิจารณาและตั้งคณะทำงานร่วมกันตามที่อสส.เสนอ ซึ่ง อสส.ได้ส่งผู้แทนมา 7 คนเป็นระดับอธิบดีและรองอธิบดี ขณะที่ผู้แทนนายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะเสนอเท่ากัน

"เรื่องนี้ไม่ได้แปลกอะไร เพราะการเสนอยุบพรรคของ กกต.ที่ผ่านมา เมื่อ อสส.ก็เคยส่งเรื่องกลับมาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งคณะทำงานร่วมโดยใช้เวลาพิจารณาใน 1 เดือน ถ้าคณะทำงานร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ก็เป็นอำนาจที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องขอความเห็นชอบจากกกต.ในการยื่นร้องต่อศาลต่อไป แต่ถ้าคณะทำงานร่วมเห็นควรฟ้องศาลก็เป็นหน้าที่อสส.ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการสอบสวนในชั้น กกต.ที่ให้ยุบ ปชป.นั้น กกต.เห็นว่าหลักฐานชัดเจนแล้ว" นางสดศรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้เป็นการดึงเวลาในการยุบพรรคหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า คงไม่พูดในลักษณะนั้นแต่กฎหมายได้ให้อำนาจ อสส.ในการที่จะขอตั้งคณะทำงานร่วมได้ ซึ่งอสส.อาจจะมองว่า การยุบพรรคเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงควรทำให้รอบคอบ และถ้าไปรีบร้อนฟ้องก็จะไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. และนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พท. ในฐานะผู้ยื่นคำร้องขอให้กกต.ยุบ ปชป. เข้ายื่นหนังสือต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านนายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการทำหน้าที่องค์คณะตุลาการในการวินิจฉัยยุบ ปชป.ของนายวสันต์ สร้อยวิสุทธิ์ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 10 และ13

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การยื่นคัดค้านในครั้งนี้มีข้อมูลว่า นายวสันต์ เคยเป็นทนายความในสำนักงานทนายความของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เป็นสำนักงานเดียวกับนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของ ปชป.ที่รับผิดชอบคดีดังกล่าว ดังนั้นนายวสันต์และนายบัณฑิต ย่อมมีความรู้จักสนิทสนามในความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบว่า วันที่ผู้แทน ปชป.เข้ายื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา นายวสันต์ได้เชิญผู้แทนของ ปชป.เข้าไปพูดคุยในห้องทำงานเป็นการส่วนตัวจริงหรือไม่

"ส่วนนายจรัญ เคยมีข่าวว่า เข้าประชุมที่บ้านพักของนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิก พท. เคยให้สัมภาษณ์ว่า การพูดคุยครั้งนั้นมีการพูดคุยถึงการรัฐประหารด้วย และหลังจากการยึดอำนาจนายจรัญ ได้ไปร่วมแสดงความยินดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สามารถโค่นล้มพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นนายจรัญ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมานายจรัญยังมีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นขั้วการเมืองตรงกันข้ามกับ ปชป.

ดังนั้นบุคคลทั้ง 2 จึงไม่สมควรนั่งเป็นตุลาการในการพิจารณาคดียุบ ปชป."นายพร้อมพงศ์ กล่าว และว่า คดียุบ ปชป.เป็นคดีใหญ่ และประชาชนให้ความสนใจทั้งประเทศ ดังนั้นตุลาการที่ทำการพิจารณาก็ต้องมีความสง่างามและน่าเชื่อถือ ที่ผ่านมานายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ยังถอนตัวแล้ว ดังนั้นนายจรัญและนายวสันต์ ก็ควรถอนตัว เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาคดี

ขณะที่นายวสันต์ กล่าวว่า เป็นดุลพินิจขององค์คณะตุลาการจะพิจารณาว่า จะเห็นชอบให้ถอนตัวหรือไม่ เพราะโดยส่วนตัวก็อยากจะถอนตัวเหมือนกัน แต่ก็ต้องแล้วแต่ที่ประชุมหากที่ประชุมไม่ให้ถอนก็ต้องทำหน้าที่ต่อ ผู้สื่อข่าวถามว่า พท.อ้างว่าได้เชิญตัวแทน ปชป.เข้าพบที่ห้องทำงานส่วนตัว นายวสันต์ กล่าวว่า ไม่มี ตนไม่ได้อยู่ในวันที่ ปชป.มายื่นคำชี้แจงในวันที่ 26 พฤษภาคม โดยเดินไปประเทศเกาหลีในช่วงวันที่ 23-27 พฤษภาคม ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต) หากไม่เชื่อมาดูได้ ดังนั้นข้อกล่าวหาจึงเป็นเรื่องเท็จและโกหกโดยสิ้นเชิง ไม่รักษาศีลข้อ 4 ยืนยันว่า ไม่เคยพบกับ ปชป.ตั้งแต่พิจารณาคดีนี้

"ผมเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา ยอมรับว่าเคยทำงานเป็นทนายความในสำนักงานของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชในปี 2510-2516 และผมก็ไม่เคยเป็นสมาชิก ปชป.จึงไม่ซีเรียส ส่วนนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของ ปชป.ก็เป็นรุ่นพี่ขณะที่ผมเป็นทนายฝึกหัด แต่เจอกันได้สักระยะนายบัณฑิตก็ไปต่างประเทศ เมื่อกลับมาผมก็ไปเป็นผู้พิพากษาแล้ว" นายวสันต์ กล่าว

รายงานข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า สำหรับคำร้องคัดค้านนายวสันต์และนายจรัญนั้น ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ จะหยิบยกคำร้องดังกล่าวมาพิจารณาว่า จะเห็นชอบโดยใช้มติเสียงข้างมากให้ตุลาการทั้งสองถอนตัวออกจากการพิจารณาคดีหรือ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ ถึงคดีรถยนต์ของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถูกทุบรถและฉกข้อมูลคดียุบ ปชป.ว่า กกต.ยืนยันว่าข้อมูลที่ถูกขโมยไปนั้นไม่มีผลต่อรูปคดี ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงหรือไม่ว่าจะมีการนำข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไปแก้ต่าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีข้อมูลอะไรอย่างไร โดยเฉพาะข้อมูลของทางดีเอสไอ

"ผมคิดว่าข้อมูลไหนที่อยู่กับทางดีเอสไอ ทาง กกต.เขาก็ใช้ในการเสนอยุบ ปชป.ไปแล้ว เรื่องนี้ ทางพรรคคงไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารการชี้แจงใหม่ เพราะทาง กกต.เขาดำเนินการไปแล้ว"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

-----------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น