Jakrapob-รำลึกวีรชน19พ.ค.-ราชประสงค์

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

คกก.แก้รธน.ชงเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว-ไม่ยุบพรรค เล็งลงดาบคนผิด10ปี


by TPNews, 2010-09-04 01:02:58

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน แถลงหลังการประชุมว่า คณะกรรมการฯได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น คือ

1.เสนอให้แก้ไขมาตรา 190 เรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และมีการแก้ไข 2 ประเด็นคือ เพิ่มเติมคำว่า “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ในท้ายวรรคสามเพื่อให้มีความชัดเจนว่ากฎหมายอย่างไรที่เข้าข่ายเป็นสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มเติมคำว่า “ประเภทของหนังสือสัญญา” เพื่อให้ทราบว่าประเภทสัญญาใดบ้างที่ต้องเข้ารัฐสภา

2.เรื่องระบบการเลือกตั้ง ม. 93-98 ที่ประชุมเสนอให้มี ส.ส.เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมาจากการเลือกตั้งลดจาก 400 เหลือ 375 คน ให้เป็นเขตเดียวคนเดียว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและให้สิทธิของผู้ลงคะแนนในประเทศนี้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ส่วนส.ส.สัดส่วนจากเดิมกำหนด 8 กลุ่มจังหวัด 80 คน ให้เปลี่ยนเป็นใช้บัญชีเดียวทั่วประเทศจำนวน 125 คนเพื่อเพิ่ม ส.ส.สัดส่วนเนื่องจากเป็นคนมีชื่อเสียง มีประสบการณ์ ไม่ได้รับความนิยมในพื้นที่ แต่มีความนิยมทั่วประเทศ สำหรับวิธีการคิดคะแนนส.ส.สัดส่วนนั้นจะไม่มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์เหมือนตอนปี 40 เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย

"สำหรับ ม.265 ห้ามส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นนอกจากรัฐมนตรี เนื่องจาก ส.ส.ควรทำหน้าที่นิติบัญญัติเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารตามหลักแบ่งแยกอำนาจ จึงไม่ควรจะแก้ไข ส่วนม.266 การห้ามส.ส.และ ส.ว.แทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร ให้คงไว้เหมือนเดิม แต่เพิ่มข้อยกเว้นให้ส.ส.สามารถแจ้งความเดือดร้อนของประชาชนให้หน่วยงานข้างต้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษรได้"

สำหรับส.ว.นั้นให้คงไว้เหมือนเดิม ทั้งจำนวน 150 คน โครงสร้าง ที่มา อำนาจหน้าที่ โดยมาจากการเลือกตั้งจำนวน 76 คนและเพิ่มขึ้นตามจำนวนจังหวัดใหม่ ส่วนที่เหลือมาจากการสรรหาทั้งหมด 150 คน ส่วนคำถามว่าส.ว.ที่มาจากการสรรหาจะมีสิทธิถอดถอนส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างไรนั้นในที่ประชุมได้ถกเถียงกันได้ข้อสรุปว่าการลงมติที่จะถอดถอนส.ส.นั้นต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 ของวุฒิสภา ซึ่งมากกว่าจำนวนส.ว.สรรหาทั้งหมด ดังนั้นส.ว.สรรหาจะถอดถอนส.ว.เลือกตั้งไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากส.ว.เลือกตั้ง แต่สิ่งที่จะแก้ไขคือคณะกรรมการสรรหาโดยจะเพิ่มเติมจาก 7 คนให้มากขึ้นโดยมาจากตุลาการศาลรธน.1 คน ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 5 คน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 1 คน ตัวแทนจากองค์กรอิสระองค์กรละ 1 คน ได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนจากคณะกรรมการองค์กรวิชาชีพตามกฎหมาย องค์กรละ 1 คน ศาสตราจารย์สายวิทยาศาสตร์ 5 คนสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 5 คน ตามทำเนียบของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

สำหรับม.237 ว่าด้วยการยุบพรรคจากการทุจริตการเลือกตั้งนั้นที่ประชุมมติเห็นพ้องว่าพรรคไม่ให้ถูกลงโทษด้วยการยุบพรรค เนื่องจากการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง จากการศึกษาหลายประเทศการยุบพรรคเป็นเรื่องยากมาก นอกจากจะทำผิดร้ายแรง ดังนั้นจึงเห็นว่าหากพรรคการเมืองทำผิดร้ายแรงที่มีผลต่อความมั่นคงหรือมีผลต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตาม ม.68 ก็สมควรถูกยุบพรรค แต่การทุจริตการเลือกตั้งตาม ม.237 ไม่ควรถูกยุบ แต่ให้ลงโทษผู้กระทำความผิดถ้าเป็นหัวหน้าพรรคให้ตัดสิทธิการเลือกตั้ง 15 ส่วนถ้าเป็นกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ไม่ใช่ว่าทำผิดแล้วกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทุกราย

ส่วนที่ว่าหากเพิ่มบทลงโทษหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต่อไปก็จะมีแต่นอมินีมาเป็นกรรมการ นายวุฒิสาร กล่าวว่า ยอมรับว่าป้องกันนอมินียาก ถ้าพรรคใดต้องการเป็นสถาบันทางการเมืองสมาชิกก็ต้องช่วยกันตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริต แต่ถ้ายอมให้กรรมการเป็นนอมินี เท่ากับว่าพรรคนั้นก็ไม่มีสถานะเป็นสถาบันทางการเมือง

“หลังจากมีข้อสรุปแล้วจะใช้เวลาอีก 1 เดือนในการรับฟังความเห็นจากประชาชนในช่องทางต่างๆโดยจะมีการทำแบบสอบถาม ส่วนข้อเสนอทั้งหมดซึ่งรวมถึงการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะเสนอได้ในเดือนธ.ค.2553” นายวุฒิสาร กล่าว

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : TNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น