by TPNews, 2010-09-11 00:36:27
"จารุวรรณ "เฮ! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องคุ้มครองชั่วคราวผู้ตรวจการแผ่นดิน นั่งทำงาน สตง.ต่อได้ศาลปกครองกลาง โดยนายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน มีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน ไม่รับคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในคดีที่นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ถูกฟ้อง เรื่องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในคดีหมายเลขดำที่ 1306/2553 กรณีที่มีคำสั่ง สตง.ที่ 184/2553 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ยกเลิกการแต่งตั้งนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง. เป็นรักษาราชการแทนผู้ว่าการ สตง. โดยไม่มีอำนาจออกคำสั่ง เนื่องจากคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งแล้วเมื่ออายุครบ 65 ปี และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง ให้คุณหญิงจารุวรรณหยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เนื่องจากการปฏิบัติงานของคุณหญิงจารุวรรณ กระทบต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการ สตง. และหน่วยราชการการทั่วประเทศที่ต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของ สตง. และเพื่อแก้ไขความสับสนและวิพากษ์วิจารณ์จากวงราชการและวิชาการเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางพิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ใช่ตำแหน่งรองผู้ว่าการ สตง. ที่จะเป็นผู้ได้รับผลโดยตรงจากคำสั่ง สตง.ที่ 184/2553 ส่วนที่ผู้ฟ้องอ้างว่า การดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ของผู้ถูกฟ้องคดีขณะนี้กระทบต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการ สตง. ตลอดจนหน่วยงานราชการและหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศที่ต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของ สตง.ว่าจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคนใด รวมทั้งเพื่อแก้ไขความสับสนและการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในวงราชการและวิชาการ จึงต้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษานั้น เห็นว่า การที่ศาลจะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนการพิพากษาคดีจะต้องเป็นไปเพื่อการบรรเทาทุกข์หรือคุ้มครองประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
แต่กรณีนี้เห็นได้ว่าแม้ผู้ฟ้องจะเป็นคู่กรณีในคดี แต่เนื่องจากผู้ฟ้องมิได้เป็นผู้มีส่วนได้รับผลโดยตรงจากคำสั่ง สตง.ที่ 184/2553 หรือได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้นศาลจึงไม่อาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว หรือคุ้มครองประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีก่อนการพิพากษาได้ ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของผู้ฟ้องคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวในคดี แต่หากคู่ความไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์การขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน ส่วนการพิจารณาเนื้อหาคดียังอยู่ระหว่างการวินิจฉัยขององค์คณะศาลปกครองกลางในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อมีคำพิพากษาต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น