by TPNews, 2010-09-04 01:14:44
คอลัมน์ : เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง : อย่าลืมสุรเกียรติ์
โดย : กาหลิบ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๓ ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโจทย์ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ นางสโรชา พรอุดมศักดิ์ ว่า หมิ่นประมาทตนในรายการโทรทัศน์ของสถานี ASTV เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ ผลคือศาลเห็นว่าผิดตามฟ้องจริง และสั่งจำคุกจำเลยคนละ ๖ เดือน ปรับคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่สุดท้ายให้รอลงอาญา ๒ ปี เนื่องจากไม่เคยถูกจำคุก และเห็นว่าเป็นการกระทำความผิด “เนื่องจากความเคารพรักต่อสถาบันกษัตริย์”
เรื่องนี้จะเสียดแทงใจใครว่าความยุติธรรมไทยมันช่างมีเงื่อนไขที่แสลงต่อหลักสากลโลก หรือจะลิงโลดดีใจแบบคนคิดตื้นๆ ว่ากระบวนการไทยให้ความยุติธรรมได้จริงก็ช่างเถิด สิ่งที่อยากเตือนดังๆ คือ อย่าลืมว่าคดีนี้เกี่ยวข้องกับอีกคนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ทั้งนายสนธิ นางสโรชา หรืออดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ที่เป็นเหตุแห่งคดีความ คนที่ว่านี้คือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณฯ นั่นเอง
ใจความของคดีนี้คือ คำกล่าวที่นายสนธิและนางสโรชาอ้างว่าเป็นของนายสุรเกียรติ์ และเป็นที่อ้างกันอย่างกว้างขวางต่อไปอีกว่า อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำพูดที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับบุคคลในสถาบันระดับสูงของไทยให้ตนฟัง ตนฟังแล้วก็ตัดสินใจถอนตัวจากรัฐบาลนั้นด้วยความไม่พอใจ
ประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งแวดล้อมการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อยู่นี้ ความจริงแล้วก็ยังมืดมนสิ้นดี เพราะผู้อยู่เบื้องหลังการทำลายประชาธิปไตยในครั้งนั้น ก็ยังครองอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในปัจจุบัน เขายังมีอำนาจล้นพ้นในการปกปิดอำพรางความจริงในสังคมไทย คดีความที่ศาลอาญาชี้ว่าผิดจนต้องจำคุกกันถึงสองปีนี้ จึงเป็นกุญแจอีกดอกที่อาจช่วยไขให้สาธารณชนได้เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเมืองไทยกันแน่ และไอ้โม่งใหญ่ที่เป็นเงาดำทาบทับสรรพสิ่งทุกอย่างที่เป็นของปวงชนชาวไทยนั้น มันคือผู้ใด
คำถามคือนายสนธิและนางสโรชารู้ได้อย่างไรว่าอดีตนายกรัฐมนตรีพูดอะไรกับนายสุรเกียรติ์ ซึ่งเป็นการพูดในที่ลับอันเป็นรโหฐาน และหากมาจากคำบอกเล่าของนายสุรเกียรติ์เอง เพราะเหตุใดนายสุรเกียรติ์จึงไม่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย?
ถ้านายสุรเกียรติ์ไม่ได้บอกเล่า หรือเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย เป็นเพียงการยกเมฆของนายสนธิและนางสโรชา ก็ต้องถามต่อว่าเหตุใดนายสุรเกียรติ์จึงไม่ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องร้องนายสนธิและนางสโรชาที่ทำให้ตนเองต้องเสียชื่อเสียงหรือทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดเล่า?
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงตรรกะว่า อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ใช่คนไร้ปัญญาหรือควบคุมตนเองไม่ได้จะไปพูดอย่างนั้นต่อคนอย่างนายสุรเกียรติ์ได้อย่างไร ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า นายสุรเกียรติ์ผู้นี้คือสามีของท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย พระราชขนิษฐาแท้ๆ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ?
วิเคราะห์จากภาพรวมแล้ว จึงต้องสงเคราะห์ว่าคดีนี้ช่วยฉายไฟกลับไปหานายสุรเกียรติ์อีกครั้งหลังจากพยายามทำตัวเงียบเพื่อให้สังคมลืมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีไปเสียให้สิ้น
คำถามเชิงประวัติศาสตร์คือนายสุรเกียรติ์มีบทบาทอย่างไรในวันอังคารที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะต่อการให้ข้อมูลกับอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับข้อมูลนั้นแล้วก็ตัดสินใจไม่ขึ้นกล่าวปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ทั้งๆ ที่เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้นยืนยันให้สิทธิ์
สละโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นไปอย่างน่าเสียดายและน่าเสียใจเป็นที่สุด
ทำไมนายสุรเกียรติ์ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงไปอยู่ในห้องพักของอดีตนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารและดูเหมือนจะมีบทบาทอย่างสูงในการตัดสินใจยามคับขันนั้น?
นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และแม้กระทั่งนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและผู้ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ใดและมีบทบาทอย่างไรในเวลานั้น?
เรากำลังพูดเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้วก็จริงอยู่ แต่ประโยชน์ของประวัติศาสตร์คือทำให้เราเข้าใจได้ชัดและซาบซึ้งขึ้นว่าเหตุใดปัจจุบันจึงเป็นเช่นนี้ ใครทำให้ประเทศชาติและประชาชนต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้?
ความเลวร้ายเบื้องหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เริ่มจากแหล่งใดและด้วยวิธีการใด ย่อมมีความหมายมากต่อการวิเคราะห์ปัจจุบันและพยากรณ์อนาคตของเมืองไทย
ตั้งต้นจากคดีสนธิ-สโรชา-สุรเกียรติ์นี่ไปก็ได้ครับ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : http://www.democracy100percent.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น