Jakrapob-รำลึกวีรชน19พ.ค.-ราชประสงค์

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

‘กษิต’ยัน เอ็มโอยู-43 ไม่ทำไทยเสียดินแดน


by TPNews, 2010-08-03 00:04:50

วันที่ 2 ส.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ แถลงเกี่ยวกับเอ็มโอยู 2543 ว่า เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นเพียงระเบียบและข้อตกลงคร่าวๆ ที่เอื้อให้เกิดการเจรจาและนำไปสู่การตกลงได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ผลสรุปของการเจรจาและมิได้มีผลบังคับการปักปันเขตแดนจึงไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ม.190 วรรค 2 อีกทั้งเอ็มโอยู 2543 ยังอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งไม่ได้ระบุให้ยื่นเรื่องนี้ให้สภาฯ พิจารณา หากทำตามขั้นตอนปักปันเขตแดนตามเอ็มโอยู 2543 จนได้ผลการเจรจาอย่างเป็นทางการแล้วจะต้องนำเสนอให้สภาฯ พิจารณาอย่างแน่นอน และคงนำไปสู่การทำประชามติเพื่อฟังความเห็นจากประชาชนต่อไป

“อีก 2 วันจะทำหนังสือถึงครม. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อบันทึกข้อตกลงทั้งสามฉบับที่เกิดจากกรอบเอ็มโอยู 2543 ที่เคยนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในสมัยประชุมที่แล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณาซึ่งต้องส่งเรื่องกลับไปที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ครม. เห็นชอบและส่งเรื่องกลับไปที่ประชุมรัฐสภา”

นายกษิตกล่าวและว่า เอ็มโอยู 2543 มีบทบาทสำคัญทำให้คณะกรรมการมรดกโลกตระหนักว่าไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกันได้และนำไปสู่การเลื่อนการพิจารณาแผนการจัดการพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารไปเป็นปี 2554 ที่ประเทศบาห์เรน

นายกษิต กล่าวว่า อดีตประเทศไทยไม่เคยเสียดินแดนอย่างที่หลายฝ่ายเคยกล่าวอ้าง แต่เมื่อมีการเปิดโต๊ะเจรจากับประเทศกัมพูชาแล้ว ฝ่ายไทยต้องตีความการปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญา สยาม–ฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ.1904 และ 1907 ซึ่งจัดทำขึ้นที่กรุงเวียนนาอย่างเคร่งครัดและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเขตแดนเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ที่ทำได้คือการตีความหลักเขตแดนให้ชัดเจนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาแต่เดิมและชั่งน้ำหนักหลักฐานแต่ละชิ้นเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ว่าหลักเขตแดนทั้ง 73 หลักอยู่ตรงไหนบ้าง รวมถึงตามข้อตกลงในเอ็มโอยู 2543 ระหว่างนี้ทั้งไทยและกัมพูชาห้ามกระทำการใดๆที่จะส่งผลให้ภูมิประเทศในเขตพื้นที่ทับซ้อนเปลี่ยนแปลงไป โดยระหว่างปี 2547-ปัจจุบัน พบว่าประเทศกัมพูชาละเมิดข้อตกลงนี้หลายครั้ง ไทยจึงได้ทำการประท้วงเพื่อรักษาสิทธิเหนือดินแดนและอำนาจอธิปไตยมาโดยตลอด

ด้านการยุติเอ็มโอยูทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาที่ลงนามในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการเรียกทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศเมื่อปีที่แล้ว นายกษิตกล่าวว่าเป็นการตอบโต้การทำผิดข้อตกลงของกัมพูชาที่สมควรแก่สถานการณ์ในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ต้องมีการสร้างข้อตกลงใหม่เพื่อหาข้อยุติแก่พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอีกครั้ง

ในส่วนของที่มาของเอ็มโอยู 2543 นายกษิตอธิบายว่ามาจากข้อพิพาทกรณีเขาพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชาในปี 2505 ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยละเลยปัญหาเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลายาวนาน คำว่า “รัฐ” เป็นคำเกิดใหม่ซึ่งประเทศแถบยุโรปเริ่มใช้เมื่อ 200-300 ปีก่อนเท่านั้น หลังจากการรุกรานของประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม ทำให้ไทยต้องถูกบีบบังคับให้ลงนามความยินยอมในแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ตามสัญญาระหว่างข้าหลวงสยามและฝรั่งเศส ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ.1904 และ 1907 เพื่อรักษาเอกราชไว้ อีกปัจจัยหนึ่งคือปัญหาบ้านร่มเกล้า ปี 2531 ที่ประเทศไทยและประเทศลาวใช้กำลังทหารเข้าสู้รบกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ “เราพยายามไม่ให้ปัญหาเรื่องเขตแดนเป็นประเด็นทางการเมืองที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่พยายามให้เป็นเรื่องเชิงบวกที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นและถาวร การแก้ปัญหาด้วยกำลังทหารจะไม่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น สุดท้ายแล้วต้องเข้าสู่โต๊ะเจรจาทุกครั้ง” นายกษิตกล่าว

นอกจากนี้ รมว.กระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่าตนเห็นผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้งและไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวกับประเทศกัมพูชาอย่างที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น