by TPNews, 2010-09-02 00:27:01
นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายนถึงกรณีที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีสื่อมวลชนบางฉบับเสนอข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสนอข่าวในลักษณะหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะแจ้งความดำเนินคดี หรือถึงขั้นสั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ว่า ในการทำแถลงข่าวของ ศอฉ.ในเรื่องดังกล่าวนั้นควรระบุให้ชัดเจนว่า หนังสือพิมพ์ฉบับใดมีพฤติการณ์ดังกล่าวเพื่อมิให้เกิดความสับสน และถ้าหาก ศอฉ.มีความเห็นว่า หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวนำเสนอข่าวตาม ศอฉ.กล่าวอ้างจริงและเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ก็เป็นสิทธิของ ศอฉ.ที่จะดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“แต่การที่โฆษก ศอฉ.ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อาจจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยการสั่งปิดหนังสือพิมพ์นั้น ไม่น่าจะทำได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 วรรค 3 ที่ระบุว่า การสั่งปิดหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ แต่สามารถทำได้เฉพาะการเซ็นเซอร์เนื้อหาในส่วนที่ขัดต่อกฎหมาย แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีกระบวนที่ชัดเจน” นายเสด็จกล่าว
อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวอีกว่า การแถลงของโฆษก ศอฉ.ดังกล่าวอย่างคลุมเครือดังกล่าว ทำให้สาธารณชนรู้สึก ศอฉ.มุ่งใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมุ่งจำกัดเสรีภาพของสื่อหนังสือพิมพ์ และขณะที่กฎหมายต่างๆ ที่จำกัดเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ในขณะนี้ก็ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว
นายเสด็จกล่าวด้วยว่า หาก ศอฉ. ยังคงมีการแถลงในลักษณะการข่มขู่ว่า ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสั่งปิดหนังสือพิมพ์ในลักษณะที่ทำให้เกิดความสับสน คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะได้มีการหารือถึงมาตรการในการดำเนินการร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆ ต่อไป
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีที่พ.อ.สรรเสริฐ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุว่า อาจจะมีการปิดหนังสือพิมพ์หัวสีบางฉบับเพิ่มเติม ว่า สื่อมวลชนที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพ ทำหน้าที่รายงานข่าวตรงไปตรงมานั้นให้ความเคารพและไม่แตะต้องแน่นอน แต่บางรายมันแอบแฝงเข้ามาเป็นสื่อ พยายามทำให้ตัวเองเป็นเหมือนสื่อมวลชน แต่เป็นเครื่องมือในการทำร้ายบ้านเมือง มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดความแตกแยกวุ่นวายในบ้านเมือง เพื่อทำลายล้างตามที่เขาตั้งเป้าเอาไว้ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และจะกำชับตำรวจจับกุมให้ได้
“เรื่องนี้ไม่ใช่การคุกคามสื่อ ศอฉ.ได้ประชุมกันและมีสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งพยายามอ้างตัวเป็นสื่อมวลชน แต่ข้อความที่พิมพ์ออกมานั้นเป็นไม่ใช่ข่าวสารทั่วไป แต่เป็นข้อความที่ยุยงให้คนเกลียดชังกัน ให้คนรู้สึกเคียดแค้นไม่พอใจ และมุ่งหวังให้เกิดความแตกแยกวุ่นวายในบ้านเมือง ศอฉ.จึงเอาเรื่องนี้มาพิจารณาแล้วสั่งให้ดำเนินการกับสิ่งพิมพ์นี้ตามกฎหมาย ผมเข้าใจว่าชื่อเรดเพาเวอร์ หรืออะไรสักอย่าง” นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพกล่าวว่า สิ่งพิมพ์ที่จะถูกปิดนั้นไม่ใช่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ได้สั่งให้ ศอฉ.ไปชี้แจงกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่รายงานข่าวว่า มีการ์ดของเสื้อแดงที่เชียงใหม่ถูกยิง แล้วเขียนเรื่อยเฉื่อยไปว่ามีกลุ่มคนมีสีไล่ล่าเสื้อแดง ซึ่งคนมีสีในประเทศไทยเพียง 2 สี คือสีเขียวกับสีกากี จึงอาจจะทำให้คนเข้าใจผิดว่า เป็นทางราชการ ก็ได้สั่งการให้ ศอฉ. ไปชี้แจงเท่านั้นไม่ถึงขั้นที่จะปิด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น